Tuesday, August 16, 2011

ฟังหูไว้หู เตรียมป้องกันไว้ก็ดีที่สุด

ครดิต http://www.oknation.net/blog/print.php?id=732128 โดยคุณหมูสนาม เขียนเมื่อเดือน ก.ค. 54

ปัญหาที่แก้ยากที่สุดในระบบเศรษฐกิจคือปัญหาเงินเฟ้อครับ

เพราะวงจรของเงินเฟ้อจะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

เงินเฟ้อจะกระทบกับกำลังซื้อของคนทุกคนในระบบเศรษฐกิจคือเงินเท่าเดิมจะซื้อสินค้าได้น้อยลงเพราะสินค้าแพงขึ้น

และคนที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษคือคนที่มีรายได้คงที่ เช่นข้าราชการที่เกษียณ

ผู้มีรายได้ประจำและไม่สามารถปรับเพิ่มรายได้เพิ่มได้อีก เช่นคนเออรี่รีไทร์ ผู้สูงอายุที่ได้เบี้ยยังชีพ เป็นต้น

แม้แต่ผู้ที่มีเงินฝากก็หนีผลกระทบจากเงินเฟ้อไม่พ้น เพราะความสามารถในการแลกเปลี่ยนของเงินที่มีอยู่เดิมจะลดลง

หรือพูดให้ฟังง่ายๆ เมื่อของแพงขึ้นก็ต้องกระทบกับเงินที่ฝากธนาคารไว้จะมีค่าลดลง

ในทางทฤษฎีเงินเฟ้อมีที่มา 2 ทางใหญ่ๆคือ

1. ต้นทุนดัน (Cost Push Inflation)

2. ความต้องการดึง (Demand Pull Inflation)

และทั้งสองทางที่กล่าวมาก็ล้วนแต่มีรากมาจากการมีการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป

และเมื่อทุกคนรู้หรือคาดว่าจะมีการเติมเงินครั้งใหญ่ให้ระบบเศรษฐกิจ ธรรมชาติจะสร้างเงินเฟ้อไปดักรออยู่ข้างหน้าเสมอ

ต้อง เข้าใจก่อนนะครับว่าการที่สินค้ามีราคาแพงเพราะความขาดแคลนชั่วคราวตามฤดูกาลมักไม่ก่อปัญหาเงินเฟ้อในระยะยาว

แค่เป็นเงินเฟ้อในระยะสั้นๆ เมื่อมีผลผลิตออกมาสู่ตลาดมากๆราคามักจะปรับตัวลดลงเองโดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอาหาร เช่นน้ำมันปาล์ม ไข่ไก่ ราคาหมู ไก่ ผักต่างๆ

แม้สินค้าพวกนี้จะมีราคาลดลงตามปริมาณสินค้าในตลาดแต่ความรู้สึกของผู้บริโภคมักจะติดภาพราคาแพงนานกว่าความเป็นจริงเสมอ

แต่เงินเฟ้อที่จะมาเยือนประเทศไทยในระยะเวลาไม่นานนับจากนี้คือ เงินเฟ้อที่เกิดจาก ต้นทุนดันครับ

ดันทั้งจากภายนอกประเทศคือต้นทุนราคาน้ำมัน กับดันจากภายในประเทศคือต้นทุนค่าจ้างแรงงาน

เงินเฟ้อประเภทนี้จะเป็นเงินเฟ้อค่อนข้างถาวรและส่งผลกระทบยาวนานมากจนเรา คาดไม่ถึงเหมือนกัน

การแก้ปัญหาเงินเฟ้อตามฤดูกาลด้วยการเพิ่มค่าแรงที่เป็นต้นทุนสำคัญของสินค้า

ที่ผลิตในประเทศไทยประเภท อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร เสื้อผ้า รองเท้า บริการ

คือการเติมเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงผลิตภาพของแรงงานที่จะ ปรับตัวตามให้ทัน

ทางออกสุดท้ายก็ต้องผลักภาระไปสู่ผู้บริโภค คือการปรับราคาสินค้า

ถ้าปรับไม่ได้เพราะมีคู่แข่งอื่นๆจากต่างประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ก็จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต

หรือไม่ก็ต้องเลิกกิจการไปในที่สุด การปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท

จึงเป็นตัวกระตุ้นให้สินค้าแพงขึ้นไปเรื่อยๆครับ เมื่อราคาสินค้าที่แพงขึ้น ก็จะไปกดดันให้ต้องเพิ่มค่าแรง

การเพิ่มค่าแรงก็จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นสินค้าก็แพงขึ้นอีก

เข้าทางวงจรอุบาทของเงินเฟ้อไม่รู้จบ

( วิธีการปรับค่าแรง ที่ไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อ คือการปรับเพิ่มผลิตภาพของแรงงานครับ

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆในวงการก่อสร้าง คือพัฒนาฝีมือแรงงานขึ้นมาจากกรรมกรแบกหามธรรมดา

ไป เป็นช่างฝีมือ เช่นช่างไม้ ช่างเชื่อม ช่างปูน ช่างปูกระเบื้อง เป็นต้น )

ในระบบการผลิตภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่ใช้ทุนมาก(capital intensive)

เช่นอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเลคโทรนิคส์ อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ ปิโตรเคมี

อุตสาหกรรมประเภทนี้ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม

ประเภท labor intensive (ใช้แรงงานคนมาก) ให้นึกถึงอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ทำรองเท้า กระเป๋า

เครื่องหนัง อาหารกระป๋อง กุ้งแช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง ทำเซรามิก เป่าแก้ว

อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตอาหารสดทุกชนิด อุตสาหกรรมบริการทุกชนิด

สังเกตนะครับว่าการปรับค่าแรงในประเทศที่มีอุตสาหกรรมหลักเป็น Capital Intensive มากๆ

เช่นสิงคโปร์ หรือไต้หวัน มักไม่ส่งผลกระทบกับปัญหาเงินเฟ้อ เพราะแรงงานเป็นต้นทุนที่น้อยมาก

เมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ผลิตออกขาย ต่างกับประเทศไทยที่แรงงานการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออกเป็นต้นทุนที่สำคัญ

ในแง่ของผู้ประกอบการมีสองวิธีง่ายๆที่ใช้รับมือกับภาวะต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นคือ

1. ผลักภาระต่อให้กับผู้บริโภค หรือ

2. พยายามลดผลกระทบด้วยการเพิ่มผลิตภาพการผลิต( Productivity)

วิธีเพิ่มค่าแรงโดยไม่เพิ่มปัญญาเงินเฟ้อคือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตครับ ในกรณีที่เป็น labor intensive

1. ลดจำนวนคนลงโดยยังได้ผลงานเท่าเดิม

2. หรือจำนวนคนเท่าเดิม แต่ได้ผลงานเพิ่มขึ้น

3. หรือจำนวนคนเท่าเดิม ได้ผลงานเท่าเดิม ใช้วัสดุหรือวัตถุดิบน้อยลง

4. หรือจำนวนคนเท่าเดิม วัตถุดิบเท่าเดิม ได้ผลงานมากขึ้น

ถ้า ผู้ประกอบการทำข้อใดข้อหนึ่งในสี่ข้อที่ยกมาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องปรับราคาคาสินค้าเพิ่มขึ้น

และที่สำคัญทั้งสี่ข้อต้องอยู่บน ฐานของคุณภาพที่เท่าเดิมหรือดีขึ้น

แต่จากประสบการณ์การทำงานอุตสาหกรรมของผม การเพิ่ม Productivity ในกรณีที่เป็น labor intensive เป็น เรื่องยากมาก

แต่ผู้ประกอบการทุกคนต่างก็ทราบดี ว่าแม้จะยากแต่ก็จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ

เพราะ ถ้าทำไม่สำเร็จก็มักต้องเลิกกิจการ หรือต้องย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า

เพราะแข่งขันไม่ได้ในสภาพแวดล้อมแบบเดิมๆ

การปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาทเป็น 300 บาท ถ้าทำได้จริงในเร็วๆนี้(ภายในหกเดือนเหมือนคำหาเสียง)

เท่ากับประเทศไทยจะมีการยกระดับค่าแรงขั้นต่ำครั้งใหญ่ที่สุด โดยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40 %

ในแรงงานที่ไร้ฝีมือ และสำหรับแรงงานที่จบปริญญาตรี ที่ปรับฐานเงินเดือนแรกเข้าจากประมาณ 9000 บาท

เป็น 15000 บาทต่อเดือน เป็นการปรับฐานเงินเดือนรวดเดียว ประมาณ 67 %

ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าการปรับฐานที่จะเกิดขึ้นไม่เกินหกเดือนข้างหน้า

ตามนโยบายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้ง จะไม่ใช่การปรับเฉพาะ300บาทตามที่เป็นข่าว

แต่จะต้องตามมาด้วยการปรับฐานค่าจ้างของคนในประเทศทั้งหมด

ที่รวมกันอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 9 ล้านคน เป็นกำลังพลภาครัฐ

ที่รวมข้าราชการ ลูกจ้าประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานจ้าง

อีกประมาณ 2 ล้านคน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อีก 2.7 แสนคน รวมทั้งประเทศประมาณ 11.3 ล้านคน

การเติมเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในรูปค่าแรงเฉลี่ย 40% ทั่วประเทศ

เปรียบเหมือนแผ่นดินไหวที่สร้างคลื่นสึนามิเงินเฟ้อจากระบบค่าจ้างแรงงานของประเทศไทยเอง !!!

สึนามิมาทีไร มักจะมีคนเจ็บคนตายจำนวนมาก ผมบอกไม่ได้หรอกว่าจะตายเท่าไร

และเรามักคาดเดาความรุนแรงของสึนามิผิดพลาดเสมอ

เมื่อคาดเดาผิดการเตรียมตัวป้องกันภัยหรือการอพยพหนีภัยก็มักจะผิดพลาดตามไปด้วย

ขอให้ทุกท่านโชคดี มีเวลาเตรียมตัวรับมือไม่เกินหกเดือนครับ(ถ้าทำจริง)

หมายเหตุ การเติมเงินครั้งนี้ผมยังไม่นับถึงโครงการอภิมหาโปรเจค 10 ล้านล้าน

โดยการถมทะเลบางขุนเทียนออกไปอีก 10 กม.ครับ

No comments:

Post a Comment